จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้โรงเรียนดนตรีส่วนใหญ่เปลี่ยนรูปแบบการสอนเป็นการเรียนออนไลน์กันหมด โดยหากดูผ่านๆ เราย่อมรู้สึกว่าก็คงไม่มีอะไรต่างกันมากนัก เพราะก็เป็นครูและลูกศิษย์สื่อสารกันอยู่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว การสอนแบบออนไลน์นั้นมีความแตกต่างกับการเรียนในห้องตัวเป็นๆระหว่างนักเรียนกับครูผู้สอนอยู่พอสมควรเลยครับ (ซึ่งจะกล่าวในภายหลังว่าทำไมถึงต่างกัน) เพื่อให้การเรียนนั้นมีคุณภาพสูงสุด ทั้งครูและผู้ปกครองต่างก็พยายามหาช่องทางการสื่อสารที่ดีที่สุด หา Application ที่สื่อสารได้ภาพและเสียงคมชัดที่สุด จะส่งโน้ต หรือ Share screen กันแบบไหน เพื่อให้การเรียนราบลื่นและคล้ายคลึงกับของเดิมมากที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำอยู่แล้วครับ แต่ถ้าเราหยุดความคิดของเราอยู่แค่นี้ สิ่งที่เราทำได้ก็เป็นเพียงการจำลองการเรียนการสอนแบบที่มาเจอกันตัวต่อตัวเท่านั้นเอง และไม่มีวันดีได้เท่าของเดิมได้ ผมมองว่าในทุกวิกฤตินั้นมีโอกาสเสมอครับ คำนี้เราอาจจะเคยได้ยินกันบ่อย แต่การเอามาคิดและปฏิบัติจริงนั้น ต้องมองให้นอกกรอบเดิมๆให้ได้ และต้องยอมรับข้อจำกัดต่างๆที่เกิดขึ้นจากวิกฤตินั้นให้ได้ก่อน เราถึงจะเห็นโอกาสนั้นเผยตัวออกมาครับ ดังนั้น เราจึงต้องยอมรับข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์ให้ได้ก่อนว่ามีอะไรบ้าง และการจะเรียนออนไลน์ให้ได้ดีนั้น ไม่ใช่การมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้ข้อจำกัดที่มีนั้นดีเทียบเท่าของเดิมเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องเปลี่ยนกรอบความคิดใหม่ เปลี่ยนมุมมองใหม่ ว่าในการเรียนการสอนแบบออนไลน์นั้น มีอะไรที่เกิดประโยชน์ได้ดีกว่าแบบที่เรียนตัวต่อตัวให้ได้ เราถึงจะดึงเอาข้อดีของการเรียนการสอนออนไลน์ออกมาได้อย่างเต็มที่ ย้อนไปเมื่อสมัยผมเป็นนักศึกษาปริญญาโทอยู่ ซึ่งในตอนนั้นผมศึกษาด้าน Music Education หรือการสอนดนตรีนั่นแหล่ะครับ ซึ่งครูดนตรีที่จบมาในสายนี้จะไม่เหมือนครูดนตรีทั่วไป เพราะเราจะอิงวิธีการสอนต่างๆจากงานวิจัย และศึกษาวิธีการสอนหลากหลายแบบรวมถึงจิตวิทยาการสอนต่างๆ ทำให้การฝึกเป็น Music educator นั้น ไม่ใช่เพียงแค่เล่นดนตรีเก่งอย่างเดียว สิ่งหนึ่งที่ผมถูกฝึกมาด้วยคือ การสอนโดยให้ใช้คำพูดเพียงอย่างเดียว ห้ามทำท่าทางประกอบ […]
