มาตรการป้องกันเด็กขี้ท้อขาดความพยายามแบบอยู่หมัดด้วยสิ่งนี้… มุมมองของครูสอนไวโอลินผู้สร้างแชมป์ประเทศ 5 สมัยซ้อน

มาตรการป้องกันเด็กขี้ท้อขาดความพยายามแบบอยู่หมัดด้วยสิ่งนี้… มุมมองของครูสอนไวโอลินผู้สร้างแชมป์ประเทศ 5 สมัยซ้อน

“ไม่เอา ไม่อยากทำแล้ว!!! มันยากอ่ะ”

ผู้ปกครองบางท่านอาจจะเคยเจอปัญหาที่ลูกอยากทำแต่อะไรง่ายๆพอเจออะไรยากหน่อยก็ไม่อยากทำ ล้มเลิกเอาซะอย่างนั้น ทั้งเคี่ยวเข็ญ ให้กำลังใจ ก็ยังไม่ยอมที่จะฮึดขึ้นมาสู้ หรือถึงทำก็ทำแบบหงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี

ปัญหานี้เป็นปัญหายอดฮิตที่ครูเจอมาตลอดครับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเจอกับเด็กเล็กช่วงวัยประถม ซึ่งทำให้พ่อแม่รู้สึกเสียดายโอกาสดีๆที่ลูกควรจะได้รับแต่ก็ต้องทิ้งโอกาสนั้นไป เพราะลูกของตนเป็นคนตัดโอกาสนั้นออกไปด้วยตนเองเพียงเพราะทัศนคติที่ผิดไปเท่านั้นเอง

เด็กกลุ่มนี้จะทำเฉพาะแต่สิ่งที่ทำแล้วรู้สึกสนุก ทำแต่สิ่งที่ตนเองชอบและทำได้ดีอยู่แล้ว แต่พอต้องเจอกับสิ่งที่ตนไม่ถนัด เพียงแค่รู้สึกว่ามันยากก็จะปฏิเสธที่จะเรียนรู้ในสิ่งนั้นและดีไม่ดีจะพาลไม่ชอบสิ่งนั้นไปเลย ทำให้ยากที่จะเรียนรู้วิชาหรือทักษะใหม่ๆเสมอ

บนโลกนี้ไม่มีสิ่งที่เรียกว่ายากหรอกครับ สิ่งที่เรารู้สึกยากคือสิ่งที่เราไม่ถนัด เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อนเท่านั้นเอง แต่เมื่อฝึกฝนบ่อยๆ สิ่งที่ยากนั้นก็หายไป กลายเป็นรู้สึกว่ามันง่ายแทน เช่น การฝึกขับรถครั้งแรก ทุกคนย่อมรู้สึกยาก ไม่ถนัด แต่ปัจจุบันใครที่จับรถเป็นและชำนาญแล้ว คงรู้สึกเหมือนกันว่าการขับรถเป็นเรื่องกล้วยๆไปแล้ว จนแทบจะขับไปแล้วทำอะไรอย่างอื่นไปด้วยก็ยังได้ (ซึ่งเป็นนิสัยที่ไม่ดีนะครับ)

แต่เด็กๆหลายๆคนไม่เข้าใจในจุดนี้ครับ เขาอาจจะยังมีความเข้าใจว่า ยากก็คือยาก ไม่มีทางทำได้ พอลองพยายามทำดูครั้งแรกๆล้มเหลว (ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ) ก็เลิกทำไปเลย

ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เด็กมีเป็นแบบนี้เกิดจากการที่เด็กมีความคิดแบบ Fixed mindset (แนวความคิดที่ว่าคนประสบความสำเร็จได้เพราะเกิดมาเก่งและฉลาด) ซึ่งเกิดจากการปลูกฝังตั้งแต่เด็กครับ โดยการที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับความเก่งและความฉลาดมากเกินไป เมื่อเห็นใครเก่งก็จะชมคนนั้นว่าเขาเก่ง เขาฉลาด หรือเมื่อลูกทำอะไรสำเร็จก็จะชมว่า “เก่งมากลูก ฉลาดจังเลย” ทำให้เด็กมีมุมมองว่า ความเก่งหรือความฉลาดนั้นตายตัว เกิดมามีเท่าไหนก็มีเท่านั้น แต่ละคนมีไม่เท่ากัน ไม่ได้เรียนรู้เบื้องหลังว่าทำไมคนหนึ่งถึงเก่งและฉลาดขึ้นมาได้ ทำให้เป้าหมายของเด็กกลายเป็นว่า ต้องการจะทำอย่างไรก็ได้ให้ตนเองดูเก่งและดูฉลาดในสายตาของคนอื่น เพราะทุกครั้งที่เขาทำอะไรที่แสดงออกว่าตนเองเก่งหรือฉลาดแล้วจะได้รับคำชมตลอด

เมื่อเด็กมีแนวคิดแบบ Fixed mindset จะส่งผลให้เด็กไม่ชอบอะไรที่ยากและท้าทายโดยพยายามที่จะหลีกหนีตลอด (เพราะพอตัวเองทำไม่ได้แล้วดูไม่เก่ง) เด็กกลุ่มนี้จะขาดความพยายามเพราะเขาคิดว่าความพยายามเป็นการเหนื่อยเปล่า ยังไงก็สู้คนที่เขาเกิดมาเก่งหรือฉลาดอยู่แล้วไม่ได้ อีกทั้งยังไม่ชอบคำตำหนิ แต่ชอบคำชื่นชม และรู้สึกกลัวเมื่อเห็นผู้อื่นประสบความสำเร็จ

ในด้านตรงกันข้ามครับ เด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความคิดแบบ Growth mindset (แนวความคิดที่ว่าความเก่งและความฉลาดนั้นเกิดจากความพยายาม) ซึ่งเกิดจากการปลูกฝังตั้งแต่เด็กเช่นกัน โดยผู้ปกครองกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญกับความพยายาม เมื่อเห็นใครเก่งก็จะพูดถึงความพยายามของคนเหล่านั้น ไม่ได้ไปพูดถึงความเก่งหรือความฉลาด และเมื่อลูกทำอะไรสำเร็จ แทนที่จะชมว่าลูกตนเองเก่งหรือฉลาด ผู้ปกครองกลุ่มนี้จะชมว่า “เยี่ยมไปเลย เห็นมั้ย พอหนูพยายามแล้วก็ทำสำเร็จ” ทำให้เด็กกลุ่มนี้มุ่งเป้าไปที่การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กล้าที่จะลองผิดลองถูกโดยไม่สนใจว่าจะล้มเหลวกี่ครั้ง จะดูไม่เก่งหรือไม่ฉลาดรึเปล่า เพราะเขาเข้าใจว่า กว่าจะเก่งแต่ละเรื่องต้องล้มเหลวมาก่อนและต้องพยายามถึงจะประสบความสำเร็จ

แน่นอนครับ เมื่อเด็กมีความคิดแบบ Growth mindset จะส่งผลให้เด็กกล้าที่จะเผชิญกับสิ่งใหม่ที่มีความยากและท้าทาย แถมยังมีความานะอดทนทำถึงแม้ว่าจะเจออุปสรรคต่างๆ (เพราะเขาเข้าใจดีว่านี่เป็นเรื่องปกติที่ต้องเผชิญก่อนจะไปถึงเป้าหมายแห่งความสำเร็จ) เด็กเหล่านี้จะมีความพยายามสูง มองว่าความพยายามเป็นขั้นบันไดสู่ความสำเร็จเสมอ เมื่อเขาเจอคำตำหนิก็จะเรียนรู้จะคำตำหนิเหล่านั้น และเมื่อเห็นผู้อื่นประสบความสำเร็จก็จะเรียนรู้จากคนเหล่านั้น

ผู้ปกครองที่ส่งลูกมาเรียนไวโอลินกับคุณครูและได้นั่งอยู่ในห้องเรียนด้วยกันจะเห็นว่าครูไม่ได้สอนเพียงการเล่นไวโอลินอย่างเดียว แต่สอนตั้งแต่แนวคิดเหล่านี้ เพราะว่าไม่ว่าจะทำอย่างไร ไวโอลินก็ยังถือว่าเป็นเครื่องดนตรีที่มีรายละเอียดสูงมาก หากเด็กท้อง่าย เอะอะก็ว่ายากนั้น จะทำให้การเรียนไวโอลินเป็นไปอย่างยากลำบาก ครูจึงมักจะใช้เวลาในช่วงแรก อธิบายเปรียบเทียบให้เด็กเข้าใจและปลูกฝังวิธีคิดแบบนี้เสมอ พื้นฐานของการเล่นไวโอลินไม่ใช่เพียงแค่ท่าจับที่ถูกต้อง แต่ต้องเริ่มต้นจากทัศนคติในการเรียนรู้ที่ถูกต้องด้วยซ้ำ เมื่อเด็กๆมีแนวคิดแบบ Growth mindset แล้วหลังจากนั้นจะสอนอะไรก็ไม่ยากอีกต่อไป และนอกเหนือกว่านั้นครูเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับนักเรียนที่นอกเหนือไปกว่าทักษะการเล่นดนตรีเสียอีก

“ให้การเรียนไวโอลินเป็นมากกว่าการเรียนรู้ที่จะเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนึง แต่เป็นเหมือนบทฝึกของชีวิตบทหนึ่งที่จะสร้างให้เด็กเข้าใจจริงๆว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าจะประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ว่าต้องเกิดมาเก่ง แต่เพราะความพยายามต่างหาก”

By อ.ณัฐนุชา ศศิปุราณะ (ครูนุ)

อาจารย์สอนไวโอลินผู้สร้างแชมป์ไวโอลินระดับประเทศ 5 สมัยซ้อน และมีผลงานระดับประเทศอีกมากมาย เช่นฝึกนักเรียนเป็นหัวหน้าวง Orchestra ต่างๆทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงฝึกครูผู้สอน และนักดนตรีมืออาชีพมากมาย ครูนุเชื่อว่าการเรียนไวโอลินนั้น วิธีคิดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้านักเรียนรู้วิธีคิดแบบนักไวโอลิน ก็จะรู้วิธีฝึกที่มีประสิทธิภาพ รู้วิธีอ่านโน้ต แกะเพลง และอยากฝึกเพลงหรือเล่นเพลงอะไรก็ทำได้เองโดยไม่ต้องพึ่งครูผู้สอน ซึ่งมีประโยชน์กับผู้เรียนในระยะยาวมากกว่าการฝึกเพลงโดยการจำเพลงหรือเล่นเลียนแบบครู ครูจึงไม่เพียงสอนวิธีเล่นไวโอลินที่ถูกต้องที่ทำให้การเล่นไวโอลินกลายเป็นเรื่องง่ายเพียงอย่างเดียว แต่สอนให้นักเรียนมีวิธีคิดแบบนักไวโอลินด้วย

Leave a Reply