จะหาครูไวโอลินที่เหมาะสมที่สุดให้กับลูกได้อย่างไร? แนวคิดดีๆจากคุณแม่น้อง Chelsey ผู้ชนะการแข่งขันไวโอลิน (ตอนที่ 1/5)
บทความนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงความยินดีให้กับน้อง Chelsey ที่แข่งได้รางวัล Gold prize ในรายการ Osaka International Music Competition ครั้งที่ 21 แล้ว ทำให้ผมคิดเรื่องสำคัญขึ้นมาได้อย่างหนึ่งครับ
ก่อนหน้านี้ผมเคยสร้างเด็กเป็นแชมป์ประเทศมา 5 คน
มีทั้งเด็กที่ปั้นง่าย สอนอะไรไป ไม่นานก็ทำได้เป็นอย่างดี
จนถึงเด็กที่ปั้นยากสุดๆ ต้องเคี่ยวเข็น ต้องคอยคุมเข้มการซ้อมกันตลอด
น้อง Chelsey จัดอยู่ในประเภทสอนง่ายมากๆครับ เรียนรู้เร็ว ปั้นได้ไม่ยากเลย แล้วก็ขยันซ้อมทุกวันแบบไม่มีขาดตกบกพร่องครับ
ผมเลยนึกขึ้นมาได้ว่า แม่ของน้อง Chelsey น่าจะมีแนวคิดดีๆในการสอนลูกนะ ลูกถึงได้มีความรับผิดชอบแบบนี้ พอได้มีโอกาสคุยกับคุณแม่แล้วผมก็พบว่า
“แนวคิดของคุณแม่เหล่านี้ ผู้ปกครองทุกคนที่ส่งลูกเรียนไวโอลินควรอยู่ หรือกำลังจะส่งลูกเรียนควรได้รู้ไว้นะ ถ้าอยากให้ลูกเล่นไวโอลินเก่งเร็ว ไม่เรียนแล้วย่ำอยู่กับที่”
บทความทั้ง 5 ตอนนี้ ที่ผมเรียบเรียงจากประสบการณ์สอนและแนวคิดของคุณแม่น้อง Chelsey จะทำให้ชั่วโมงเรียนและเงินทุกบาทที่ส่งลูกเรียนไวโอลินนั้นคุ้มค่าเต็มที่ครับ

ตอนที่ 1: จะหาครูไวโอลินที่เหมาะสมที่สุดให้กับลูกได้อย่างไร?
ผมขอจบการเข้าใจผิดเรื่องใหญ่ที่สุดไปก่อนเลยครับคือ
“การหาครูที่เก่งให้กับลูก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถาบันดนตรีที่ลูกเรียนนะครับ แต่ต้องเจาะจงไปหาครูที่เก่งท่านนั้นโดยเฉพาะครับ”
ดังนั้นคำถามที่ว่า “เรียนไวโอลินที่ไหนดี?” จึงไม่ใช่คำถามที่ถูกต้องซักเท่าไหร่
เพราะสถาบันสอนดนตรีที่มีคุณภาพหลายแห่ง ไม่ใช่ว่าส่งลูกไปเรียนที่สถาบันนั้นแล้วจะได้เจอครูที่เก่งทันทีครับ
แต่ครูคนที่เก่ง คุณพ่อคุณแม่ต้องหาประวัติมาก่อน ว่าเก่งยังไง มีผลงานอะไรบ้าง
หลังจากนั้นจึงค่อยหาว่าครูท่านนั้นสอนอยู่ที่ไหน ต้องไปให้ถึงที่นั่น และ บอกกับทางสถาบันอย่างเฉพาะเจาะจงว่าจะเรียนกับอาจารย์ท่านนั้นไปเลยครับ
ครูที่เล่นไวโอลินเก่ง กับครูที่สอนไวโอลินเก่ง มีข้อดีข้อเสียต่างกันยังไง?
หลายคนยังเข้าใจผิดครับ คิดว่าครูที่เล่นไวโอลินเก่ง แปลว่าเป็นครูที่สอนเก่งด้วย ซึ่งจริงๆแล้ว “การเล่นดนตรี” กับ “การสอนดนตรี” เป็นคนละทักษะกันครับ
ครูที่เล่นไวโอลินเก่งมากๆ จะรู้เทคนิคเยอะ ตีความเพลงได้ลึกซึ้ง เวลาสอนตั้งแต่ Basic มักจะรู้หมดว่าพื้นฐานอะไรดีหรือไม่ดี และควรแก้ยังไง
ซึ่งถ้าเล่นเก่งอย่างเดียว แต่สอนไม่เก่ง…
เด็กมักจะเลิกเรียนกันครับ บางคนพาลไม่ชอบหรือเกลียดดนตรีไปเลยก็มี เพราะครูหมกมุ่นกับเทคนิคเกินไปจนไม่สนุก หรือครูรู้ว่าอะไรเป็นเทคนิคที่ถูกต้อง แต่หาวิธีอธิบายให้นักเรียนเข้าใจง่ายเป็น Step by step ไม่ได้ก็มีครับ
ส่วนครูที่สอนเก่ง จะสามารถอธิบายได้ชัดเจน เข้าใจง่าย เรียนสนุก มีจิตวิทยาที่ดี
ซึ่งถ้าครูสอนเก่งอย่างเดียว แต่เล่นไม่เก่ง…
บางครั้งครูไม่รู้วิธีเล่นไวโอลินลึกซึ้งพอ อาจสอนสิ่งที่จะสร้างปัญหาในการเล่นเทคนิคที่สูงขึ้นได้ ทำให้ต้องมาแก้ทีหลังครับ (หรือที่เรียกว่าเรียนพื้นฐานมาผิดครับ) ซึ่งจะเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กมากๆ และเด็กอาจจะเรียนนานหลายปีแต่ก็เล่นไม่เพราะ อ่านโน้ตไม่ออก จำเพลงเอาอย่างเดียวก็มีครับ
การจะหาครูที่เก่ง จึงต้องเป็นครูที่เล่นเก่ง และสอนเก่งด้วย จึงจะทำให้ลูกเล่นไวโอลินเก่งได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องครับ ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่ใช้เวลาตรงนี้ในการหาข้อมูล ก็จะสามารถเจอครูเก่งๆได้หลายคนครับ

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าครูเก่งแต่ไม่ถูกใจลูก?
ครูไวโอลินเก่งๆในประเทศไทยเรามีหลายคน แต่ละท่านก็มีสไตล์การสอนที่แตกต่างกันไปครับ
บางคนอาจจะค่อนข้างดุเพื่อให้เด็กเก่ง
บางคนก็ใช้จิตวิทยาเข้ามาช่วยทำให้เด็กเรียนสนุก
มีหลากหลายแนวคิดและปรัชญาการสอนครับที่ทำให้เด็กเก่ง
ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจเรียน ลองให้ลูกไปทดลองเรียนก่อนครับ ว่าเขาชอบสไตล์การสอนแบบครูท่านนั้นๆรึเปล่า
โดยพ่อแม่ต้องดูเหตุผลที่ลูกชอบคุณครูด้วยนะครับ เคยมีเด็กที่ชอบครูบางคนมากๆ เพราะครูให้พักเยอะ ทั้งให้วาดรูป ทั้งใจดี จนแทบไม่ได้เรียนทั้งคาบ ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ครับ
พ่อแม่บางคนหาแค่ว่าครูคนไหนเก่งแล้วส่งลูกไปเรียน สุดท้ายลูกไม่ชอบวิธีการสอนของครู กลายเป็นไม่ชอบไวโอลินไปเลยก็มีนะครับ
แนวคิดในการสอนของครูต้องตรงกับวิธีเลี้ยงลูกของเรา
ไม่มีวิธีเลี้ยงลูกที่ถูกต้องที่สุดครับ แต่ละครอบครัวก็มีวิธีการแตกต่างกันไป ซึ่งการเรียนไวโอลินก็เช่นเดียวกัน
โดยการเรียนไวโอลินนั้น เป็นสิ่งที่เรียนกันนานหลายปีครับ ครูสอนไวโอลินแทบจะเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของลูกไปด้วย
ดังนั้น ถ้าได้ครูที่มีแนวคิดในการสอน ตรงกับแนวคิดในการเลี้ยงดูของที่บ้านด้วยละก็ จะยิ่งไปได้เร็วเลยครับ
ตัวอย่างเช่น
หากครูดุ เข้มงวด ให้ทำตามที่สอนอย่างเคร่งครัด
แต่ที่บ้านเน้นการเลี้ยงดูแบบเปิดกว้าง ให้ลูกได้ทดลองอะไรใหม่ๆ มีจินตนาการ ใช้จิตวิทยาเลี้ยงลูก
วิธีการทั้งสองแบบย่อมไปด้วยกันไม่ได้ครับ เพราะแนวทางของครูและพ่อแม่ไม่ได้ไปด้วยกันเลย
คุณแม่ของน้องเชลซีได้กล่าวถึงวิธีเลือกครูสอนไวโอลินให้ลูกเอาไว้ว่า
“แม่ค้นหาข้อมูลใน Google และได้เจอบทความที่ครูนุเขียน
รู้สึกประทับใจในวิธีคิดในการสอนดนตรีให้เด็กของคุณครูท่านนี้ จึงนัดหมายไปทดลองเรียน
พอได้เจอคุณครูก็รู้สึกว่า สิ่งที่ได้อ่านจากบทความที่คุณครูเขียน กับวิธีการสอน Violin ให้กับลูกในวันที่ทดลองเรียนนั้น ตรงกับทัศนะในการเลี้ยงลูกของตัวเอง จึงได้ตัดสินใจว่าจะเรียน
แน่นอนว่า แม่ก็ต้องถามลูกเพื่อยืนยันความต้องการอีกครั้งว่าจะเรียนจริงๆ ใช่มั๊ย ชอบคุณครูใช่มั๊ย ลูกก็บอกใช่ อยากเรียน”
ถ้าคุณพ่อคุณแม่พิถีพิถัน ใช้เวลาหาข้อมูล แล้วเลือกครูที่เหมาะสมที่สุดกับลูกแล้วละก็ โอกาสที่จะเรียนไวโอลินไม่รอดหรือเล่นไม่เก่งจะลดลงไปเยอะมากครับ ดังนั้นแล้ว ยอมเสียเวลาในช่วงนี้เพื่อหาครูที่ดีที่สุดให้กับลูกดีกว่าครับ
เมื่อลูกครูที่เหมาะสมให้กับลูกได้แล้ว ปัญหาต่อมาที่พ่อแม่ส่วนใหญ่เจอคือปัญหาเรื่องเด็กไม่ซ้อมครับ
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่หาข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับการเรียนดนตรีมาพอสมควรจะพบว่า การซ้อมที่ได้ผลดีที่สุดคือ “ซ้อมทุกวัน วันละน้อย” ดีกว่าการ “นานๆทีซ้อม แต่ซ้อมนานๆ” ซึ่งผมคงจะไม่พูดแล้วว่าเพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น
แต่ผมอยากจะพูดประเด็นสำคัญที่เอาไปใช้ได้จริงเลยดีกว่าครับ คือ “ทำยังไงให้ลูกซ้อมทุกวัน?” ซึ่งผมและคุณแม่ของน้อง Chelsey มีคำแนะนำดีๆให้ลองเอาไปปรับใช้กันดูในบทความหน้าครับ