พลิกวิกฤติเป็นโอกาส เรียนดนตรีออนไลน์อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

พลิกวิกฤติเป็นโอกาส เรียนดนตรีออนไลน์อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้โรงเรียนดนตรีส่วนใหญ่เปลี่ยนรูปแบบการสอนเป็นการเรียนออนไลน์กันหมด โดยหากดูผ่านๆ เราย่อมรู้สึกว่าก็คงไม่มีอะไรต่างกันมากนัก เพราะก็เป็นครูและลูกศิษย์สื่อสารกันอยู่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว การสอนแบบออนไลน์นั้นมีความแตกต่างกับการเรียนในห้องตัวเป็นๆระหว่างนักเรียนกับครูผู้สอนอยู่พอสมควรเลยครับ (ซึ่งจะกล่าวในภายหลังว่าทำไมถึงต่างกัน)

เพื่อให้การเรียนนั้นมีคุณภาพสูงสุด ทั้งครูและผู้ปกครองต่างก็พยายามหาช่องทางการสื่อสารที่ดีที่สุด หา Application ที่สื่อสารได้ภาพและเสียงคมชัดที่สุด จะส่งโน้ต หรือ Share screen กันแบบไหน เพื่อให้การเรียนราบลื่นและคล้ายคลึงกับของเดิมมากที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำอยู่แล้วครับ แต่ถ้าเราหยุดความคิดของเราอยู่แค่นี้ สิ่งที่เราทำได้ก็เป็นเพียงการจำลองการเรียนการสอนแบบที่มาเจอกันตัวต่อตัวเท่านั้นเอง และไม่มีวันดีได้เท่าของเดิมได้

ผมมองว่าในทุกวิกฤตินั้นมีโอกาสเสมอครับ คำนี้เราอาจจะเคยได้ยินกันบ่อย แต่การเอามาคิดและปฏิบัติจริงนั้น ต้องมองให้นอกกรอบเดิมๆให้ได้ และต้องยอมรับข้อจำกัดต่างๆที่เกิดขึ้นจากวิกฤตินั้นให้ได้ก่อน เราถึงจะเห็นโอกาสนั้นเผยตัวออกมาครับ

ดังนั้น เราจึงต้องยอมรับข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์ให้ได้ก่อนว่ามีอะไรบ้าง และการจะเรียนออนไลน์ให้ได้ดีนั้น ไม่ใช่การมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้ข้อจำกัดที่มีนั้นดีเทียบเท่าของเดิมเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องเปลี่ยนกรอบความคิดใหม่ เปลี่ยนมุมมองใหม่ ว่าในการเรียนการสอนแบบออนไลน์นั้น มีอะไรที่เกิดประโยชน์ได้ดีกว่าแบบที่เรียนตัวต่อตัวให้ได้ เราถึงจะดึงเอาข้อดีของการเรียนการสอนออนไลน์ออกมาได้อย่างเต็มที่

ย้อนไปเมื่อสมัยผมเป็นนักศึกษาปริญญาโทอยู่ ซึ่งในตอนนั้นผมศึกษาด้าน Music Education หรือการสอนดนตรีนั่นแหล่ะครับ ซึ่งครูดนตรีที่จบมาในสายนี้จะไม่เหมือนครูดนตรีทั่วไป เพราะเราจะอิงวิธีการสอนต่างๆจากงานวิจัย และศึกษาวิธีการสอนหลากหลายแบบรวมถึงจิตวิทยาการสอนต่างๆ ทำให้การฝึกเป็น Music educator นั้น ไม่ใช่เพียงแค่เล่นดนตรีเก่งอย่างเดียว

สิ่งหนึ่งที่ผมถูกฝึกมาด้วยคือ การสอนโดยให้ใช้คำพูดเพียงอย่างเดียว ห้ามทำท่าทางประกอบ ห้ามวาดรูปให้ดู ทั้งที่สิ่งที่ต้องสอนนั้น เป็นเรื่องของท่าทางการเล่นดนตรีทั้งหมด เช่นทำอย่างไรถึงจะจับคันชักไวโอลินได้อย่างถูกต้อง เป็นการจำกัดทางเลือกในการสื่อสารอื่นๆ เพื่อฝึกให้เราสามารถสอนได้ภายใต้สภาวะที่จำกัด เป็นการฝึกทักษะการสอน การคิด และกระบวนการอธิบายของเราไปด้วยในตัว เพื่อให้เมื่อถึงเวลาที่เราต้องไปสอนอย่างไร้ข้อจำกัดนั้น สามารถทำได้อย่างดีมากๆนั่นเอง

ในสถานการณ์ที่ผมยกตัวอย่างมานี้ เราสร้างข้อจำกัดขึ้นมา เพื่อฝึกฝนทักษะบางอย่างให้ดีขึ้น โดยเป็นสภาวะที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงด้วยซ้ำ เพื่อให้เมื่อถึงเวลาของจริงที่ไร้ข้อจำกัดแล้ว เราสามารถทำสิ่งต่างๆเหล่านั้นได้ดีมากกว่าเดิม พูดง่ายๆคือ “เราสร้างข้อจำกัดเพื่อฝึกฝนให้เราเก่งมากๆนั่นเอง”

ข้อจำกัดจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฝึกฝนทักษะต่างๆมากมาย เช่น

เด็กเมื่อคิดเลขโดยการเขียนทดบนกระดาษได้คล่องแล้ว ก็ถูกครูเพิ่มข้อจำกัดใหม่ๆเข้าไปคือให้คิดในใจห้ามทด เพื่อให้คิดเลขได้ดีขึ้น พอจะกลับมาคิดโดยให้เขียนทด ก็กลายเป็นเรื่องง่ายดายมากๆไปในทันที แล้วถ้าเพิ่มข้อจำกัดด้านเวลาเข้าไปอีกว่าต้องคิดให้เร็ว ก็ยิ่งทำให้ทักษะการคิดเลขของเด็กคนนั้นเก่งขึ้นไปอีก

คนที่ฝึกวาดรูปโดยวาดภาพเสมือนจริงโดยมีแบบให้ดูอย่างเดียว ถ้าไม่เพิ่มข้อจำกัดให้ตนเองโดนการวาดจากจินตนาการที่ไม่มีแบบให้ดูบ้าง ก็จะก้าวข้ามขีดความสามารถเดิมไม่ได้ที่ต้องมีแบบให้ดูอยู่ตลอด หรือถ้าหากเพิ่มข้อจำกัดให้เหลือแม่สีเพียงแค่ 2 สี ก็ยิ่งเป็นการฝึกการคิด จิตนาการของผู้ที่ฝึกวาดรูปคนนั้นเข้าไปอีก ให้ได้เห็มุมมองใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ ที่ถ้าหากเขามีสีครบทุกสีก็คงไม่ได้ฝึกคิดแบบนี้

ข้อจำกัดเป็นเหมือนการปิดประตูของสมองบางบานที่เราใช้จนคุ้นเคยให้ใช้การไม่ได้ ทำให้เราต้องบังคับสมองตนเองให้เปิดประตูบานอื่นๆที่อาจไม่เคยถูกเปิดมาก่อนให้ใช้งานซะบ้าง เมื่อกลับมาเปิดประตูข้อจำกัดบานที่เราปิดเอาไว้ในตอนแรก ก็จะพบว่าวิธีการคิดของสมองเรานั้น มีประตูบานใหม่ๆถูกเปิดออกอีกหลายบานอย่างที่เราคาดคิดไม่ถึง ทำให้เราเกิดมุมมองใหม่ๆ เกิดทักษะใหม่ๆ เกิดวิธีคิดใหม่ๆมากมาย

ในภาวะที่มีโรคระบาดนี้ ทั้งครูและผู้เรียนเหมือนถูกบังคับเข้ามาให้อยู่ในภาวะที่มีข้อจำกัดอย่างไม่มีทางเลือกด้วยกันทุกคน นักเรียนท่าผิด ครูไม่สามารถเอื้อมมือเข้าไปในจอเพื่อจะจัดท่าให้ถูกได้ (แม้ว่าจะอยากทำขนาดไหนก็ตาม) หรือนักเรียนยังเล่นไม่ได้ ครูอยากจะเล่นไปพร้อมกับนักเรียนก็ทำไม่ได้ เพราะสัญญาณที่ส่งหากันนั้นจะมีการ Delay หากเราจะมองว่าข้อจำกัดเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการเรียน มันก็จะเป็นเพียงแค่สิ่งฉุดรั้งเราเท่านั้น แต่หากเรานำข้อจำกัดนี้มาใช้เพื่อเป้าหมายในการฝึกบางอย่าง มันกลับสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับเรามากมายเลยทีเดียว เช่น

นักเรียนท่าผิด ครูอาจจะเคยจับมือนักเรียนจนท่าถูก ทำให้ดูไปพร้อมๆกับ ทำได้ครบทุกรูปแบบ แต่เมื่อสอนออนไลน์แล้ว ครูมีข้อจำกัดไม่สามารถจับมือนักเรียนได้ว่าท่าที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ครูจึงต้องหาวิธีอื่นให้นักเรียนสังเกตุตนเอง ตัวอย่างเช่น ในการเรียนไวโอลินที่ผมสอนนั้น นักเรียนที่สีเบี้ยวจะมีวิธีการสังเกตุแบบใหม่ที่ใช้กล้องที่ใช้วิดีโอคอลเข้ามาช่วยเพื่อให้เห็นท่าที่ผิดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยหากตั้งมุมกล้องบางมุมที่ครูกำหนดไว้อย่างถูกต้องแล้วจะสามารถเห็นตนเองได้อย่างชัดเจนว่าสีเบี้ยวหรือไม่ กลายเป็นว่านักเรียนได้วิธีสังเกตุท่าทางการเล่นแบบใหม่ๆ และฝึกได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม

นักเรียนเล่นเพลงยังไม่คล่อง ครูอาจจะเคยเล่นไปพร้อมกับนักเรียนเพื่อฝึกไปด้วยกันอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อสอนออนไลน์ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว ครูอาจจะใช้วิธีการเล่นให้ฟัง ทั้งแบบที่ถูก และแบบที่ผิด ให้นักเรียนฝึกฟัง แยกแยะ และเกิด Concept อย่างชัดเจนว่าที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ทำให้สุดท้ายนักเรียนสามารถเล่นได้อย่างถูกต้องโดยไม่ต้องใช้วิธีเลียนแบบครูโดยจำเอาอย่างเดียว แต่เกิดจาก Concept ที่ชัดเจน อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีของครู ที่จะอธิบายจุดที่เล่นไม่ได้ ให้ช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ปัญหา ได้วิเคราะห์ปัญหาด้วยกัน จนเกิดความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เกิดจากการเล่นเลียนแบบครูอย่างแท้จริง

ข้อจำกัดหลายๆอย่างเหล่านี้ ทำให้นักเรียนต้องคิด ต้องทำความเข้าใจดนตรีมากกว่าเดิม ต้องพึ่งพาตนเองมากกว่าเดิม แต่โดยรวมๆแล้ว การพึ่งพาตนเองเหล่านี้ กลับเป็นการฝึกชั้นยอด เพราะยิ่งครูเอื้อมมือเข้าไปช่วยได้น้อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้ฝึกฝนและทบทวนความเข้าใจของนักเรียนมากขึ้นเท่านั้นว่าเข้าใจจริงหรือไม่ โดยทั้งนี้ทั้งนั้นนักเรียนจะได้ประโยชน์จากการเรียนออนไลน์มากน้อยแค่ไหนก็ย่อมเกิดจากความสามารถในการพลิกแพลงวิธีการสอนของครู และความอดทนพยายามของนักเรียนที่อาจจะต้องทนกับความไม่สะดวกสบายหลายๆอย่าง จากที่ไม่เคยต้องคิดเองหรือทำเองก็ต้องมาทำเองทั้งหมดในช่วงเวลาที่เรียนออนไลน์นี้ แต่สุดท้ายแล้ว ถ้าผ่านมันไปได้ ย่อมเกิดวิธีคิดและทักษะใหม่ๆ อย่างแน่นอนครับ

แน่นอนครับ ครูไม่ได้มองว่าการเรียนออนไลน์นี้ควรจะนำมาแทนที่การเรียนแบบปกติที่มาเจอกันตัวต่อตัวครับ มีหลายอย่างที่ไม่สามารถสอนได้เป็นอย่างดีในการเรียนออนไลน์ ซึ่งแต่ละเครื่องดนตรีก็จะแตกต่างกันไป แต่โดยส่วนตัวที่ผมเป็นอาจารย์สอนไวโอลินก็พบว่าการฟัง Sound ของผู้เล่นผ่านสื่อออนไลน์นั้น สามารถทำได้ยากมาก เพราะไม่รู้ว่าเสียงจริงที่นักเรียนเล่นเป็นอย่างไร ไพเราะแค่ไหน? นุ่มนวล หนักแน่นอย่างไร? สิ่งเหล่านี้ครูทำได้ดีเพียงเท่าที่เสียงผ่านสื่อออนไลน์จะสื่อสารได้ชัดเจนเท่าไหนแค่นั้นเอง แต่ผมมองว่า การฝึกคิด ฝึกวิเคราะห์ ฝึกทำทุกอย่างด้วยตนเองโดยพึ่งครูผู้สอนให้น้อยที่สุดเป็นจุดเด่นของการเรียนออนไลน์มากๆ เราจึงควรใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาดังกล่าวให้เต็มที่ครับ

By อ.ณัฐนุชา ศศิปุราณะ (ครูนุ)

อาจารย์สอนไวโอลินผู้สร้างแชมป์ไวโอลินระดับประเทศ 5 สมัยซ้อน และมีผลงานระดับประเทศอีกมากมาย เช่นฝึกนักเรียนเป็นหัวหน้าวง Orchestra ต่างๆทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงฝึกครูผู้สอน และนักดนตรีมืออาชีพมากมาย ครูนุเชื่อว่าการเรียนไวโอลินนั้น วิธีคิดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้านักเรียนรู้วิธีคิดแบบนักไวโอลิน ก็จะรู้วิธีฝึกที่มีประสิทธิภาพ รู้วิธีอ่านโน้ต แกะเพลง และอยากฝึกเพลงหรือเล่นเพลงอะไรก็ทำได้เองโดยไม่ต้องพึ่งครูผู้สอน ซึ่งมีประโยชน์กับผู้เรียนในระยะยาวมากกว่าการฝึกเพลงโดยการจำเพลงหรือเล่นเลียนแบบครู ครูจึงไม่เพียงสอนวิธีเล่นไวโอลินที่ถูกต้องที่ทำให้การเล่นไวโอลินกลายเป็นเรื่องง่ายเพียงอย่างเดียว แต่สอนให้นักเรียนมีวิธีคิดแบบนักไวโอลินด้วย

Leave a Reply