ลูกซ้อมไวโอลินทุกวันแล้วแต่ก็ยังไม่เก่ง เพราะอะไร?
เมื่อลูกซ้อมได้ทุกวันแล้ว สิ่งสำคัญอันดับต่อมาคือ คุณภาพของการซ้อมครับ
การซ้อมไม่มีคุณภาพ หรือ “ซ้อมไม่เป็น” คือสาเหตุอันดับ 1 ของปัญหาการเรียนดนตรีสารพัดครับ ทั้งเล่นไม่เก่ง เรียนช้า ย่ำอยู่กับที่
“หลายคนยังเข้าใจผิดกันเยอะว่า การซ้อมดนตรีคือหยิบโน้ตเพลงมาเล่น ทำซ้ำหลายๆครั้ง ยิ่งซ้อมเยอะยิ่งดี ยิ่งเก่ง”
ในความเป็นจริง ถ้าเป็นนักดนตรีที่เก่งและเชี่ยวชาญแล้วจะรู้ว่า ความคิดนี้ผิดมากๆครับ
การซ้อม 2 แบบ ที่ได้ผลต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ผมแบ่งการซ้อมไว้ 2 แบบคือ “ซ้อมด้วยกำลัง” กับ “ซ้อมด้วยสมอง” ครับ
ซ้อมด้วยกำลังนั้น คือซ้อมไปเรื่อยๆ หลายๆรอบ สักแต่ว่าซ้อม ถึงจะซ้อมทุกวัน วันละ 3 ชั่วโมงก็ไม่ได้เก่งขึ้นซักเท่าไหร่ครับ เพราะจุดที่ผิดก็ยังผิดเหมือนเดิม จุดที่เล่นไม่เพราะก็ยังไม่เพราะเหมือนเดิม
แต่การซ้อมด้วยสมองนั้น เด็กจะต้องใช้เวลาซ้อมที่มีจำกัดให้คุ้มค่าที่สุด โดยต้องคิดก่อนว่าควรจะซ้อมท่อนไหน? เพราะอะไร? มีปัญหาอะไร? และจะแก้ไขอย่างไร? ถ้าซ้อมแบบนี้ ถึงจะซ้อมแค่วันละ 30 นาที ยังได้ประโยชน์และเก่งเร็วกว่าซ้อมด้วยกำลังเลยครับ
“การซ้อมไม่ได้ทำให้เก่งขึ้น แค่เคยชินมากขึ้น ดังนั้นถ้าซ้อมผิดก็เท่ากับฝึกฝนตนเองให้ชินกับสิ่งที่ผิดเท่านั้นเอง”
รู้ได้อย่างไร ว่าลูกซ้อมด้วยสมองรึเปล่า?
คำถามสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยอะไรลูกได้บ้างเพื่อให้การซ้อมนั้นมีคุณภาพมากขึ้น ลูกซ้อมด้วยสมองมากขึ้น
ขั้นแรกเลย พ่อแม่สามารถสังเกตุได้ครับ ว่าที่ลูกซ้อมนั้นเป็นการซ้อมแบบใช้สมองหรือซ้อมด้วยกำลัง โดยครูมีแบบทดสอบง่ายๆให้ลองไปตรวจสอบกันเองได้ครับ
ให้ 1 คะแนนกับทุกข้อที่ตอบว่าใช่
- ลูกซ้อมเฉพาะจุดที่ผิดบ่อยๆ ไม่ใช่เล่นไปเรื่อยๆทั้งเพลงหลายๆรอบ
- ลูกซ้อมช้าๆ เพื่อเก็บรายละเอียด ไม่ใช่เอาแต่ซ้อมเร็วๆ เพื่อความสนุกอย่างเดียว
- ลูกใช้เวลาคิดก่อนลงมือซ้อมทุกครั้งว่าวันนี้จะซ้อมโดยมีเป้าหมายอะไร? เพื่อแก้ปัญหาอะไร?
- ลูกวางแผนการซ้อม ว่าแต่ละวันจะซ้อมเรื่องอะไรบ้าง
- ทุกครั้งที่ลูกเล่นผิด ลูกจะซ้อมเฉพาะจุดที่ผิดจนกว่าจะเล่นถูก แล้วจึงไปฝึกท่อนอื่น
- ลูกมีการทำสัญลักษณ์หรือจำได้ว่าท่อนไหนที่ตนเองเล่นได้ไม่ดี เป็นท่อนที่ต้องซ้อมเยอะเป็นพิเศษ
- เมื่อเหนื่อยแล้วมีการพักประมาณ 5-10 นาที เพื่อกลับมาซ้อมต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ทำไปเรื่อยๆไม่พัก ทั้งที่ซ้อมไม่มีคุณภาพแล้ว
- ฟังโดยรวมๆทุกวันแล้ว รู้สึกว่าจุดที่ลูกเล่นผิดบ่อยๆ ค่อยๆ หายไป
- เมื่อลูกซ้อมจุดเดิมผิดซ้ำๆไม่เกิน 3 รอบ ลูกหยุดคิดและหาวิธีซ้อมใหม่ๆ เพื่อไม่ให้ทำผิดซ้ำอีก (เช่น ซ้อมช้าลง ตัดโน้ตให้เหลือน้อยลง เป็นต้น)
- ลูกฟังออกว่าตนเองเล่นผิดพลาดอย่างไรในแต่ละรอบ เช่น เล่นเพี้ยน จังหวะผิด สีโดนสายอื่น กดโบว์หนักเกินไป เป็นต้น
หากลูกของคุณได้ 10 คะแนนเต็มละก็ ลูกของคุณซ้อมด้วยสมองอย่างเต็มที่เลยครับ ไม่ว่าจะเล่นเพลงยากขนาดไหน ถ้าเทคนิคพร้อม ซ้อมไม่นานก็เล่นได้หมดครับ และจะเรียนไวโอลินได้เร็วมากๆ
วิธีฝึกให้ลูกซ้อมด้วยสมองที่คุณเองก็ทำได้
หากลูกได้คะแนนน้อย แปลว่าลูกซ้อมด้วยกำลังเป็นหลัก และคุณสามารถช่วยลูกได้ด้วยวิธีง่ายๆที่ครูใช้มาตลอดครับ ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนนิสัยในการซ้อมของลูกไปทีละนิดจนกลายเป็นซ้อมด้วยสมองในที่สุด
- ทุกครั้งที่ลูกซ้อมเสร็จ 1 รอบ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นทั้งเพลง หรือเล่นแค่บางท่อนก็ตาม ให้หยุดลูกก่อนจะซ้อมอีกรอบ (เด็กซ้อมด้วยกำลังส่วนใหญ่จะซ้อมรัวๆ ไม่หยุดคิดอะไรทั้งนั้นครับ เลยต้องเบรคก่อน)
- ถามลูกว่า “ที่เล่นรอบล่าสุดนี้ มีตรงไหนผิดพลาดที่น่าจะแก้ไขบ้าง เพื่อที่จะเล่นได้ดีกว่านี้”
- ถ้าลูกตอบไม่ได้เลย ให้บอกลูกว่า “ลองเล่นใหม่อีกครั้งสิ แต่ครั้งนี้ ถ้ารู้สึกว่าเล่นไม่ดีตรงไหน ให้หยุดเล่นที่ตรงนั้นเลยนะ แล้วรีบบอกว่าอะไรที่ไม่ดี”
- ทำซ้ำข้อ 3 จนลูกหาจุดที่ควรปรับปรุงได้แล้วจึงถามต่อว่า “แล้วที่เล่นไม่ดีเป็นเพราะอะไร?” ซึ่งอาจจะเกิดจากเล่นเพี้ยน จังหวะผิด เล่นโน้ตผิด เป็นต้น
- ถามลูกต่อว่า “แล้วหนูคิดว่า ควรจะซ้อมที่จุดไหนดี เพื่อแก้ปัญหาที่ว่านี้” โดยลูกควรจะซ้อมใกล้ๆกับจุดที่เล่นผิดครับ โดยอาจจะเริ่มที่ประโยคก่อนหน้าจุดที่ผิดนิดนึง
- เมื่อลูกซ้อมเพื่อแก้ไขจุดที่ผิดแล้ว ถามลูกว่า “ยังอยากทำซ้ำอีกมั้ย คล่องรึยัง หรืออยากจะซ้อมจุดอื่นแล้ว เพราะอะไร?”
กระบวนการคิดเหล่านี้ สามารถช่วยลูกได้มากๆครับ ทำให้ลูกฝึกสังเกตว่าตนเองเล่นผิดตรงไหน จะแก้ไขอย่างไร และเริ่มวางแผนว่าควรจะซ้อมท่อนไหน ซ้ำบ่อยแค่ไหน เป็นต้น
ถ้าทำได้จนคล่องแล้ว เหมือนเรากำลังฝึกลูกให้เป็นครูฝึกซ้อมให้ตนเองนั่นแหละครับ
ถึงจะไม่ได้ 10 คะแนนเต็มแบบที่ครูสอนไวโอลินที่มีความชำนาญสามารถฝึกให้ลูกได้ก็ตาม แต่อย่างน้อย ลูกก็เริ่มที่จะใช้สมองซ้อมแล้ว และมีการซ้อมที่มีคุณภาพขึ้นมามากมายเลยทีเดียวครับ
แต่หากลูกวนอยู่ที่ขั้นตอนที่ 3 แล้วหาจุดผิดพลาดของตนเองไม่ได้ แปลว่า…
ลูกอาจจะเล่นได้ดีมากๆจนไม่มีข้อผิดพลาดแม้แต่น้อย (ซึ่งไม่ค่อยจะเป็นไปได้เท่าไหร่)
หรือถ้าไม่อย่างนั้นคือ ลูกไม่รู้เลยว่าตนเองเล่นผิดอะไร
ถ้าเป็นแบบหลัง ควรจะรีบปรึกษาคุณครูที่สอนไวโอลินให้กับลูกครับว่าจะฝึกลูกอย่างไรได้บ้างเพื่อปัญหานี้ครับ
เคล็ดลับจากน้อง Chelsey
น้อง Chelsey ได้ให้คำแนะนำเหมือนกันครับ ว่าอยากเล่นไวโอลินเก่ง ให้ซ้อมแบบนี้
“พอเราเรียนไปในแต่ละสัปดาห์ เราควรจะกลับมาซ้อมทุกๆวัน
เวลาซ้อมไม่ต้องซ้อมทั้งเพลงก็ได้
วันจันทร์อาจจะลองซ้อมทั้งเพลงดูก่อน
ตรงไหนที่ยังไม่ได้ ก็ตั้งเป้าไว้ว่า พรุ่งนี้วันอังคาร จะมาแก้ที่จุดนี้ที่เราผิด
ส่วนวันพุธก็จะไปแก้จุดอื่นๆที่เราผิด
พอถึงวันสุดท้ายก่อนที่เราจะไปเรียน เราก็จะเอาทุกอย่างมารวมกันทั้งหมดให้เราเล่นเป็นเพลงได้
มันจะได้มีความคืบหน้าไปอีกในการเรียนครั้งต่อมาทุกๆครั้ง”
นี่เป็นตัวอย่างการวางแผนการซ้อมแบบภาพรวมๆ ของเด็ก 9 ขวบครับ ที่เพียงคิดแบบนี้ก็มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องได้ทุกสัปดาห์ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนเรื่องเดิมวนเวียนอยู่กับที่แล้วครับ
ทั้ง 3 ตอนที่ผ่านมานั้น เป็นเทคนิคต่างๆที่ทำให้ลูกเรียนไวโอลินแล้วประสบความสำเร็จครับ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเลือกครู วิธีทำให้ลูกซ้อมทุกวัน จนถึงวิธีการซ้อมให้มีคุณภาพ
แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลยคือแนวคิดที่เราปลูกฝังให้กับลูกครับ ถ้าลูกได้วิธีคิดดีๆไปแล้ว ก็เหมือนเป็นการเตรียมความพร้อมให้เขาสามารถจัดการกับอุปสรรคต่างๆที่จะเกิดขึ้นในชีวิตได้เป็นอย่างดี และนำมาสู่ความสำเร็จในที่สุดครับ
ซึ่งบทความหน้าผมและคุณแม่น้อง Chelsey จะพูดถึงแนวคิดหนึ่ง ซึ่งถ้าพลาดไปแล้วจะกลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กเลิกเรียนไวโอลินกันเยอะครับ
แต่ถ้าปลูกฝังแนวคิดมาดีละก็ จะส่งผลต่อการเล่นไวโอลินและการใช้ชีวิตของลูกในทางที่ดีขึ้นไปตลอดชีวิตครับ