ใครว่าผู้ใหญ่เรียนดนตรีไม่ได้?

ใครว่าผู้ใหญ่เรียนดนตรีไม่ได้?

“หนึ่งในสิ่งที่น่าเจ็บปวดที่สุดของครูคือการเห็นนักเรียนผู้ใหญ่หลายคนที่ลองฝึกเองหรือเรียนมาเนิ่นนานแล้วรู้สึกเหมือนฝันสลาย เพราะเล่นได้ไม่เพราะและรู้สึกเหมือนไม่ได้รับการปูพื้นฐานอะไรเลย ไม่เข้าใจโน้ต ไม่เข้าใจว่าเสียงเพี้ยนไม่เพี้ยนฟังยังไง ได้แต่สีเพลงไปเป็นเพลงๆ ทั้งๆที่ขาดเพียงแค่เคล็ดลับเล็กน้อยเท่านั้นก็จะไปถึงความฝันที่ตนต้องการได้…”

ช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา เป็นเรื่องปกติที่คุณครูจะได้รับโทรศัพท์วันละหลายสายจากผู้ปกครองเพื่อให้ลูกๆของตนเรียนไวโอลินและเปียโนในช่วงปิดเทอม แต่เมื่อเปิดเทอมไปแล้วนักเรียนผู้ใหญ่หลายคนก็โทรมาขอเรียนไม่ว่าจะเป็นวัยทำงานจนกระทั่งถึงวัยเกษียณ

หนึ่งในคำถามยอดนิยมที่คุณครูมักจะได้ยินทุกครั้งคือ “ผมเป็นผู้ใหญ่แล้ว ไม่มีพื้นฐานทางดนตรีเลย จะเรียนได้มั้ยครับ?” และดูเหมือนว่าผู้ใหญ่เกือบทุกคนจะเข้าใจว่าต้องเรียนดนตรีตั้งแต่เด็กถึงจะเล่นเก่ง ต้องมีทั้งพรสวรรค์ และฝึกฝนตั้งแต่เล็กเท่านั้น จริงๆแล้ว ผู้ใหญ่ก็เรียนได้ และสุดท้ายก็เล่นได้ดีไม่แพ้เด็กนักเรียนที่เรียนตั้งแต่เด็กครับ

จริงอยู่ว่าด้วยภาระหน้าที่รับผิดชอบทางการงานต่างๆ และเวลาฝึกฝนที่น้อยกว่าเด็กเล็กๆ อาจจะเป็นการยากถ้าจะเล่นได้เก่งระดับแนวหน้าของประเทศหรือเป็นนักดนตรีระดับโลก แต่ครูมองว่านั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใหญ่ที่รักในเสียงดนตรีเหล่านี้หมายปองอยู่ดี แต่นักเรียนผู้ใหญ่เหล่านี้ รักและหลงไหลในเสียงไวโอลินหรือเปียโน และอยากจะเล่นเพลงที่ตนเองชอบให้ได้ไพเราะน่าฟัง หรือเมื่อเวลาพักผ่อน อาจจะนั่งแกะเพลงหรือโหลดโน้ตจากอินเตอร์เน็ทมาหัดเองแล้วฟังเป็นเพลงไพเราะน่าชื่นใจเท่านั้นเอง

สำหรับนักเรียนผู้ใหญ่ที่เริ่มเรียน ครูทั่วไปมักจะสอนไม่เหมือนเด็กทั่วไป เพราะมองข้ามศักยภาพที่แท้จริงที่จริงๆผู้ใหญ่ก็ทำได้ บางครั้งไม่ได้สอนอ่านโน้ตอย่างละเอียดแบบที่สอนเด็กๆ บางครั้งก็ให้จำเป็นเพลงๆไปโดยไม่เข้าใจอะไรเลย กลับกลายเป็นครูซะเองที่มองว่าผู้ใหญ่ไม่น่าจะเล่นเก่งได้เหมือนเด็กๆ เลยสอนแบบไม่คาดหวังด้วยซ้ำ แล้วจะให้นักเรียนผู้ใหญ่เชื่อว่าตนเองจะเล่นเก่งได้อย่างไรล่ะครับ…

ครูเชื่อมาตลอดว่านักเรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน และย่อมต้องมีวิธีการสอนที่แตกต่างกันไป ยิ่งหากเป็นผู้ใหญ่แล้ว ย่อมมีความแตกต่างจากเด็กแน่นอน วิธีการเรียนรู้ วิธีการทำความเข้าใจก็ไม่เหมือนกัน จะสอนแบบที่สอนเด็กไม่ได้แต่ไม่ได้หมายความว่าความรู้และทักษะสุดท้ายที่ได้รับต้องน้อยกว่านักเรียนที่เริ่มเรียนตั้งแต่เด็ก

หนึ่งในสิ่งที่น่าเจ็บปวดที่สุดของครูคือการเห็นนักเรียนผู้ใหญ่หลายคนที่ลองฝึกเองหรือเรียนมาเนิ่นนานแล้วรู้สึกเหมือนฝันสลาย เพราะเล่นได้ไม่เพราะและรู้สึกเหมือนไม่ได้รับการปูพื้นฐานอะไรเลย ไม่เข้าใจโน้ต ไม่เข้าใจว่าเสียงเพี้ยนไม่เพี้ยนฟังยังไง ได้แต่สีเพลงไปเป็นเพลงๆ ทั้งๆที่ขาดเพียงแค่เคล็ดลับเล็กน้อยเท่านั้นก็จะไปถึงความฝันที่ตนต้องการได้…

บางคนมาเรียนกับคุณครูเพราะเล่นไวโอลินเท่าไหร่ก็เพี้ยน แค่สอนให้ฟังก็หายเพี้ยน ผมไม่เคยดูถูกว่านักเรียนผู้ใหญ่จะฝึกฟังไม่ได้ สุดท้ายเมื่อได้ฝึกก็หายเพี้ยน…

บางคนมาเรียนกับคุณครูเพราะอ่านโน้ตไม่ออกหรืออ่านช้ามากๆ แค่สอนวิธีการอ่านตั้งแต่ระดับเสียงและจังหวะด้วยความเข้าใจและให้แบบฝึกหัดเกี่ยวกับการอ่านโน้ตที่ถูกต้อง ก็อ่านได้อย่างรวดเร็วทุกคน…

บางคนมาเรียนกับคุณครูเพราะเล่นไวโอลินแล้วรู้สึกเจ็บปวด เกร็ง จนไม่มีความสุขในการเล่นไวโอลินอีกต่อไป เพียงแค่ครูใส่ใจ ช่วยวิเคราะห์ท่าทาง จับกล้ามเนื้อต่างๆ บางคนก็แก้ท่าจับใหม่ก็หาย บางคนเปลี่ยนที่รองบ่าใหม่ให้เข้ากับสรีระก็หาย…

ทุกๆปัญหาที่เกิดขึ้น หากเราวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างถูกต้อง แต่ละปัญหาก็ล้วนแต่มีรายละเอียดด้วยกันทั้งนั้น แต่ทุกปัญหาก็สามารถแก้ได้ หากไม่ได้เกิดจากความผิดปกติหรือโรคประจำตัวครับ

ดังนั้นจึงอยากจะให้กำลังใจผู้ใหญ่ทุกคนที่รักในเสียงไวโอลินหรือเปียโน ที่ไม่เชื่อว่าตนเองจะสามารถเล่นได้ว่า ทุกคนสามารถเล่นได้ครับ อันนี้ผมพูดอย่างจริงจังว่าทุกคน!!! ไม่ว่าจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์ทางดนตรี ไม่มีความรู้เรื่องดนตรีอะไรเลย จนรู้สึกว่าดนตรีเป็นสิ่งลึกลับสำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้นที่จะเล่นได้ แต่สุดท้าย หากได้เรียนรู้วิธีการเล่นอย่างถูกต้อง ได้รับการฝึกอย่างเป็นขั้นตอน ก็สามารถเล่นได้ออกมาไพเราะเหมือนที่ตนเองฝันได้ทุกคนครับ

By อ.ณัฐนุชา ศศิปุราณะ (ครูนุ)

อาจารย์สอนไวโอลินผู้สร้างแชมป์ไวโอลินระดับประเทศ 5 สมัยซ้อน และมีผลงานระดับประเทศอีกมากมาย เช่นฝึกนักเรียนเป็นหัวหน้าวง Orchestra ต่างๆทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงฝึกครูผู้สอน และนักดนตรีมืออาชีพมากมาย ครูนุเชื่อว่าการเรียนไวโอลินนั้น วิธีคิดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้านักเรียนรู้วิธีคิดแบบนักไวโอลิน ก็จะรู้วิธีฝึกที่มีประสิทธิภาพ รู้วิธีอ่านโน้ต แกะเพลง และอยากฝึกเพลงหรือเล่นเพลงอะไรก็ทำได้เองโดยไม่ต้องพึ่งครูผู้สอน ซึ่งมีประโยชน์กับผู้เรียนในระยะยาวมากกว่าการฝึกเพลงโดยการจำเพลงหรือเล่นเลียนแบบครู ครูจึงไม่เพียงสอนวิธีเล่นไวโอลินที่ถูกต้องที่ทำให้การเล่นไวโอลินกลายเป็นเรื่องง่ายเพียงอย่างเดียว แต่สอนให้นักเรียนมีวิธีคิดแบบนักไวโอลินด้วย

Leave a Reply