“พรสวรรค์” หรือจะสู้ “พรแสวง”
คุณพ่อคุณแม่หลายคนทีเดียวครับ ที่ไม่เคยมีใครเล่นดนตรีมาก่อนเลย แต่อยากให้ลูกได้เรียนดนตรี เพราะเล็งถึงประโยชน์ต่างๆ ของดนตรีที่กิจกรรมอื่นๆ ไม่สามารถให้ได้ แต่ก็เกิดคำถามกับตนเองทุกครั้งว่า “ลูกเราจะเรียนรอดมั้ยเนี่ย…” เพราะเห็นลูกเพื่อนๆ บางคนเรียนมาตั้งนาน สุดท้ายก็ย่ำอยู่กับที่จนเลิกเรียนไป แล้วก็เลยมักจะมีความเชื่อว่า การเรียนดนตรีจะรอดต่อเมื่อเด็กต้องมีพรสวรรค์…
ผมมีเรื่องของเด็กคนนึงจะเล่าให้ฟังครับ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงจากประสบการณ์การสอนของผมเลย ปกติทุกปีจะมีการแข่งขันดนตรีระดับประเทศอยู่ ซึ่งจะมีการแข่งขันหลายรอบ มีการแข่งรอบเขต เพื่อเป็นตัวแทนในการแข่งรอบจังหวัด เพื่อคัดตัวแทนเป็นการแข่งระดับภาคต่างๆ จนสุดท้ายก็คือการแข่งขันในระดับประเทศ ที่เอาตัว Top ของแต่ละภาคมาประชันฝีมือกัน
มีเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ คนหนึ่งชื่อน้องไม้ค์ ที่ตอนเด็กๆ ฝีมือการเล่นไวโอลินของเขาไม่ได้ดีเด่อะไร ปีนั้นผมก็ส่งลูกศิษย์ของผมเข้าแข่งขันตามปกติ เป็นเด็กที่มีพรสวรรค์มาก และได้เห็นน้องไม้ค์ลงแข่งด้วย ซึ่งตอนนั้นผมไม่ได้ติดใจอะไร เพราะน้องไม้ค์ไม่ได้เรียนกับผม ไม่ได้รู้จักกัน ซึ่งผลของการแข่งก็คือน้องไม้ค์ตกรอบตั้งแต่รอบเขต… จนหลังการแข่งขันที่ดำเนินอย่างยาวนานอีกหลายรอบจบลง ลูกศิษย์ที่ผมส่งไปก็ชนะเลิศ ได้เป็นแชมป์ประเทศตามคาด
หลังการแข่งขันจบลงไม่นาน น้องไม้ค์ก็มาเรียนไวโอลินกับผม (ซึ่งตอนนั้นผมนึกไม่ออกด้วยซ้ำ ว่าเคยเจอกันในรายการแข่งขัน) ผมรู้แค่ว่าน้องไม้ค์ในตอนนั้นพื้นฐานพังสนิท สีเป็นเพลงได้ แต่สียังไงก็ไม่เพราะ เนื่องด้วยท่าจับและความเข้าใจในการเล่นแทบจะไม่มีเลย ทำได้แค่เล่นตามโน้ตไปเรื่อยๆ ผมก็เลยจับรื้อพื้นฐานใหม่หมดตามระเบียบ
จนถัดมา 1 ปี น้องไม้ค์ก็บอกกับผมว่า
“ครู!!! ปีนี้ผมอยากแข่งอีก”
ผมก็เลยบอกกับน้องไม้ค์ตอนนั้นไปว่า
“จัดไป!!!”
แต่ก็เตือนน้องเขาไปด้วยว่า อาจจะยังไม่ชนะเป็นแชมป์ประเทศนะ คิดซะว่าหาประสบการณ์ละกัน กลัวน้องเขาจะผิดหวัง
ปีนั้น ผมก็ส่งเด็กแข่งไป 2 คน คนหนึ่งคือเด็กที่มีพรสวรรค์ เรียนมานานและเล่นเก่งมากๆ และได้ชนะเลิศเป็นแชมป์ประเทศ ส่วนน้องไม้ค์ที่รู้ตัวว่าจะได้แข่ง ก็ซ้อมอย่างหนักหน่วงเต็มที่ จนสามารถผ่านรอบจังหวัดไปได้ ซึ่งนับว่าทำได้ดีทีเดียว
ปีถัดมา น้องไม้ค์ก็พูดกับผมด้วยประโยคเดิมนี่ล่ะครับ
“ครู!!! ปีนี้ผมอยากแข่งอีก”
เอาเว้ย สู้ไม่ถอยจริงๆ (ปกติการแข่งขันนี้จะไม่ให้คนเป็นแชมป์แข่งได้อีกครับ แต่คนที่ไม่ชนะมีสิทธิ์แข่งได้เรื่อยๆ) รอบนี้มีคนเก่งๆ เยอะมากครับ แต่ก็ไม่คิดมากครับ ส่งเจ้าไม้ค์ไปแข่งเนี่ยแหล่ะ
ก่อนแข่งผมก็บอกกับไม้ค์ประโยคหนึ่ง ซึ่งเป็นประโยคเดียวกับที่ผมบอกเด็กที่เคยไปแข่งและเป็นแชมป์มาทุกคน
“ดนตรีไม่ได้มีไว้เพื่อแข่งขัน
คุณแค่ขึ้นไปบนเวที
แล้วเล่นให้ทุกคนมีความสุข
แค่นั้นพอ ไม่ต้องคิดอย่างอื่น”
และนั่นแหล่ะครับ ในความพยายามรอบที่สามนี้เอง น้องไม้ค์ก็ชนะเลิศเป็นแชมป์ไวโอลินระดับประเทศสมใจอยาก
น้องๆ ที่ผมส่งไปเป็นแชมป์ประเทศมา 5 รุ่น ผมจำน้องไม้ค์นี่แหล่ะแม่นยำที่สุดแล้ว (ถ้าลูกศิษย์คนไหนมาอ่านแล้วอย่าน้อยใจนะ คุณเก่งทุกคนนั่นแหล่ะ แต่ครูส่งไม้ค์แข่งไป 3 ปี ก็ต้องจำได้ดีหน่อย)
แต่เรื่องนี้มันก็ให้ข้อคิดที่สำคัญมากๆ อยู่อย่างนึง ถ้าผมมองนึกย้อนไปวันแรก ผมไม่ได้รู้สึกว่านี่คือเด็กที่มีพรสวรรค์เหมือนแชมป์ประเทศรุ่นอื่นๆ แต่นี่คือเด็กที่มีพรแสวงจริงๆ ต่อให้เล่นเพี้ยนขนาดไหน ก็พยายามจนเล่นได้ดีทุกโน้ต ต่อให้ล้มกี่ครั้งก็ยังลุกขึ้นมาสู้ทุกครั้ง ไม่มีท้อ ไม่มีเสียใจ มีแต่เป้าหมายที่จับจ้องไว้ แล้วเดินไปข้างหน้าอย่างเดียว
ผมมองว่าปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เด็กคนหนึ่งประสบความสำเร็จ (ไม่ใช่แค่ด้านดนตรีอย่างเดียว) พรแสวงเป็นสิ่งที่สำคัญมากครับ
“พรสวรรค์ เราเลือกเองไม่ได้ว่า
จะประสบความสำเร็จกับอะไร
แต่พรแสวงเราเป็นคนเลือก
ความสำเร็จที่เป็นของเราเอง”
พรแสวงเป็นมากกว่าความพยายามครับ พยายามคืออดทน ทำไปเรื่อยๆ แต่พรแสวง คือนอกจากจะพยายามแล้วยังแสวงหาวิธีการเพื่อที่จะได้มาซึ่งความสำเร็จนั้นด้วย
ปัจจุบันผมเลยไม่เคยมองหาเด็กที่มีพรสวรรค์อีกเลยครับ ผมรู้แค่อยากเดียวว่า ดนตรีเป็นเครื่องมือที่ใช้ฝึกพรแสวงให้กับเด็กได้เป็นอย่างดีทีเดียว มันกลายเป็นหัวใจสำคัญของการสอนดนตรีของผมไปเลยก็ว่าได้ ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่ผมจะ “ควานหาเพชรมาเจียระไน” แต่ตอนนี้
“แม้จะเจอหิน ไม่ใช่เพชร
แต่ด้วยความพยายาม
หินก็สามารถถูกแกะสลัก
จนสุดท้ายเป็นงานศิลปะ
ที่มีคุณค่าไม่แพ้เพชรได้เช่นกัน”
ให้ดนตรีเป็นเครื่องมือฝึกหินแต่ละก้อนคิดได้ว่าถ้ามีพรแสวง หินก็มีคุณค่าไม่น้อยหน้าเพชรได้เหมือนกัน