ข้อควรระวัง ควรรู้ไว้ก่อนเลือกเรียนไวโอลินให้ลูก ไม่มีคำว่าเรียนล่ม (ตอนที่ 1)

ข้อควรระวัง ควรรู้ไว้ก่อนเลือกเรียนไวโอลินให้ลูก ไม่มีคำว่าเรียนล่ม (ตอนที่ 1)

ไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีอีกชิ้นหนึ่งที่คุณพ่อ คุณแม่มักจะนิยมให้ลูกๆ เรียนกัน เนื่องจากมีเสียงที่ไพเราะ พกพาสะดวก แถมยังดีเท่ห์มากๆ อีกตะหาก แต่ในขณะเดียวกัน ไวโอลินกลับกลายเป็นเครื่องดนตรีที่เรียนไม่รอดเยอะที่สุดเช่นเดียวกันด้วยเหตุผลหลายประการ ดังนั้นข้อควรระวังดังต่อไปนี้ควรจะรู้ไว้ก่อนให้ลูกเรียนไวโอลิน เพื่อให้การเลือกเรียนไวโอลินเกิดประโยชน์สูงสุดครับ

1. อย่าใจร้อน: เป็นข้อแรกที่ผมเน้นกับเด็กๆ และผู้ปกครองทุกคนที่ส่งลูกมาเรียนเสมอ เพราะไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีที่ต้องปูพื้นฐานเยอะมากกว่าเครื่องอื่นๆ ตั้งแต่ท่าจับเครื่อง ท่าจับคันชัก ฝึกสียังไงให้ไม่เบี้ยว กดยังไงให้ไม่เพี้ยน กลายเป็นว่าถ้าใจร้อนอยากเล่นเป็นเพลงให้ได้เร็วๆ ขึ้นเพลงเลย พื้นฐานก็จะไม่แน่น สียังไงก็ไม่เพราะ (แต่พอฟังเป็นเพลงนะ)

สุดท้ายเรียนไปหลายปีก็ต่อยอดไม่ได้เพราะพื้นฐานพังไปหมด เล่นได้แต่แบบที่สีแล้วเสียงแข็งๆ เพี้ยนๆ ฟังแล้วขัดหูไปตลอด ผมจึงเน้นข้อนี้เป็นอันดับต้นๆ เสมอครับ

ถ้าเปรียบเทียบเป็นการสร้างตึกก็เหมือนจะรีบสร้างตึก 5 ชั้นโดยไม่ลงเสาเข็ม ไม่สนอะไรทั้งนั้นจะเอาให้ได้ 5 ชั้นเร็วที่สุด ก็คงได้ตึก 5 ชั้นแบบหวิดจะพัง ครั้นจะสร้างเพิ่มเป็น 10-20 ชั้นก็คงสร้างต่อไม่ได้จนกว่าจะทุบตึกทิ้งและเริ่มใหม่ตั้งแต่การลงเสาเข็ม ซึ่งผมเจอเด็กเป็นแบบนี้เยอะมากที่เคยเรียนมาก่อนแต่พื้นฐานพังหมด ต้องโดนจับรื้อพื้นฐานใหม่หมดซึ่งเป็นเรื่องน่าหนักใจสำหรับเด็กที่เรียนมาก ต้องคอยพูดให้กำลังใจเสมอ แต่สุดท้ายพอทำสำเร็จทุกคนก็สามารถเล่นเพลงที่ตนอยากเล่นได้อย่างไพเราะเหมือนที่ฝันไว้กันทุกคนครับ

2. อย่าติด Sticker ทุ่นแรง: ผู้ปกครองหลายๆ ท่านอาจจะเคยเห็นลูกเพื่อนไปเรียนไวโอลินแล้วติด Sticker สีๆ ไว้บนไวโอลินใช่มั้ยครับ การติด Sticker เหล่านี้ช่วยให้เด็กสามารถกดนิ้วได้ถูกตำแหน่งโดยการมองที่ Sticker ที่แปะเอาไว้นี่ล่ะครับ ทำให้เล่นเป็นเพลงได้เร็วขึ้น

แต่ในขณะเดียวกันการติด Sticker แบบนี้ก็มีข้อเสียหลักๆด้วยกัน 3 ประการด้วยกันครับคือ 1) เสียโอกาสในการพัฒนาทักษะการฟัง แทนที่เด็กจะได้ฝึกฟังเสียงอย่างตั้งใจว่าตัวไหนเพี้ยน เพี้ยนยังไง ก็เลยไม่ได้ฝึกฟังเพราะมัวแต่เอาตามองที่ Sticker แล้วกดตามจนแทบไม่ต้องคิดอะไร 2) ทำให้อ่านโน้ตเพลงช้าลง เพราะต้องคอยมอง Sticker ที มองที่ Note เพลงที สลับไป สลับมา ทำให้ทักษะในการอ่านโน้ตเพลงพัฒนาได้ไม่เต็มที่ และ 3) ต่อให้ติด Sticker ก็เล่นเพี้ยนอยู่ดี เพราะความละเอียดในการกดนิ้วนั้น ถ้าคลาดเคลื่นไปเพียงแค่เสี้ยวมิลลิเมตรก็เพี้ยนแล้ว การติด Sticker ต่อให้เพ่งจนตาเขยังไงก็ไม่สามารถกดลงที่เดิมเป๊ะได้ครับ ต้องอาศัยการฟังเอาเท่านั้นถึงจะรู้ว่าเพี้ยนรึเปล่า

3. หูไม่ดี ฝึกกันได้: สืบเนื่องมาจากข้อ 2 นั่นแหล่ะครับ ที่ว่าถ้าแปะ Sticker จะไม่ได้พัฒนาทักษะในการฟัง แปลว่าจริงๆแล้วของแบบนี้ฝึกกันได้ครับ

คุณพ่อคุณแม่มักจะมองว่าการเป็นนักดนตรีต้องหูดีมากๆ เป็นพรสวรรค์ บางคนแค่ฟังเพลงปุ๊ปก็เล่นตามได้แบบเป๊ะๆ ซึ่งจริงๆ แล้วทักษะเหล่านี้ล้วนฝึกได้ทั้งสิ้นครับ การที่เด็กคนนึงฟังเสียงออกว่าเพี้ยนหรือไม่เพี้ยน เกิดจากวิธีการคิดในการฟังครับว่าเค้าคิดอะไรเมื่อได้ยินเสียงนั้น มีระบบในการตีความเสียงมั้ยว่าอะไรคือเพี้ยน อะไรคือไม่เพี้ยน เหมือนเป็นการฝึกภาษานั่นแหล่ะครับ

คนที่ฟังไม่ออกว่าเล่นเพี้ยนรึเปล่าก็คงเปรียบได้เหมือนคนไม่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่น ไปฟังคนญี่ปุ่นพูดก็ฟังไม่รู้เรื่อง แต่พอมีวิธีฟัง มีระบบในการตีความเสียงที่ได้ยินก็ฟังรู้เรื่องยังไงยังงั้นเลยครับ

บทความต่อมาเราจะมาดูกันต่อครับว่ายังมีอะไรที่ควรรู้ก่อนเริ่มเรียนไวโอลินเพื่อที่ลูกจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินหลงทางจนสุดท้ายก็เรียนไม่รอดครับ สามารถติดตามตอนที่ 2 ต่อได้จาก Page: MusIQmethod วิธีการสอนดนตรีแนวใหม่ที่สร้างแชมป์ประเทศมาแล้ว 5 ปีซ้อน “พัฒนาวิธีคิดด้วยดนตรีเพื่อให้เด็กประยุกต์ใช้กับการเรียนและชีวิตประจำวันได้” ถ้าชอบบทความอย่าลืม กด Like, Share และ Follow page กันด้วยนะครับ

By อ.ณัฐนุชา ศศิปุราณะ (ครูนุ)

อาจารย์สอนไวโอลินผู้สร้างแชมป์ไวโอลินระดับประเทศ 5 สมัยซ้อน และมีผลงานระดับประเทศอีกมากมาย เช่นฝึกนักเรียนเป็นหัวหน้าวง Orchestra ต่างๆทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงฝึกครูผู้สอน และนักดนตรีมืออาชีพมากมาย ครูนุเชื่อว่าการเรียนไวโอลินนั้น วิธีคิดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้านักเรียนรู้วิธีคิดแบบนักไวโอลิน ก็จะรู้วิธีฝึกที่มีประสิทธิภาพ รู้วิธีอ่านโน้ต แกะเพลง และอยากฝึกเพลงหรือเล่นเพลงอะไรก็ทำได้เองโดยไม่ต้องพึ่งครูผู้สอน ซึ่งมีประโยชน์กับผู้เรียนในระยะยาวมากกว่าการฝึกเพลงโดยการจำเพลงหรือเล่นเลียนแบบครู ครูจึงไม่เพียงสอนวิธีเล่นไวโอลินที่ถูกต้องที่ทำให้การเล่นไวโอลินกลายเป็นเรื่องง่ายเพียงอย่างเดียว แต่สอนให้นักเรียนมีวิธีคิดแบบนักไวโอลินด้วย

Leave a Reply