“อยากให้ลูกเก่งดนตรี พ่อแม่ช่วยได้ตั้งแต่เด็ก” มุมมองของครูดนตรีผู้สร้างแชมป์ไวโอลินระดับประเทศ 5 ปีซ้อน (ตอนที่ 2)
จากตอนที่แล้วที่เราพูดถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมทางดนตรีซึ่งทำให้เด็กที่มาเรียนดนตรีเหล่านี้เรียนได้เก่งและเร็วกว่าคนอื่น (ติดตามอ่านตอนที่แล้วได้ที่ Page: musiqstudio นะครับ) วันนี้เราจะมาดูวิธีการทำให้ลูกเก่งดนตรีโดยพ่อแม่ช่วยได้ตั้งแต่เด็กข้อที่ 2 กันครับ
2) การสร้างทัศนคติที่ดีทางดนตรี: ล่าสุดคุณครูเพิ่งมีน้องอายุ 4 ขวบมาสมัครเรียนไวโอลิน ซึ่ง ที่พอมาทดลองเรียนวันแรกก็อยากเรียนไวโอลินมากๆ พอคุณแม่ซื้อเครื่องได้ก็ต้องรีบแกะออกมาลองจับ ลองเล่น และที่น่าประหลาดใจกว่านั้นคือน้องจะหยิบเครื่องไวโอลินออกมาซ้อมเองทุกวันโดยที่ไม่มีใครบอกหรือบังคับ ความชอบและหลงไหลในการเล่นไวโอลินนั้นมาจากการสร้างทัศนคติที่ดีทางดนตรีนั่นเองครับ
ถ้าเปรียบเทียบกับเด็กกลุ่มที่ไม่ได้รับการสร้างทัศนคติที่ดีทางดนตรีนี้จะเห็นได้ชัดเจนมากตรงที่ว่า เด็กจะไม่กระตืนรือล้นที่จะเรียน ที่จะซ้อม ให้เรียนก็เรียนๆ ไป จบเป็นเพลงๆ พอจะสอนเทคนิกใหม่ก็ “ไม่เอา!!! ยาก!!! เล่นเพลงเล่มหนึ่งได้มั้ย ง่ายกว่าตั้งเยอะ ทำไมต้องขึ้นเล่มสองด้วย?!?” พอจะสอนแกะเพลง จะได้ฝึกเพลงเองได้โดยไม่ต้องมีโน้ตก็ “ครูแกะให้นั่นแหล่ะ ยากจะตาย ใครจะไปทำได้!!!”
ทัศนคติที่ดีทางดนตรีแปลง่ายๆ ก็คือ การทำให้เด็กรู้สึกว่าการเล่นดนตรีเป็นเรื่องที่น่าสนุก เป็นความสามารถที่พิเศษกว่าคนอื่น เป็นเด็กที่เก่ง ฯลฯ ซึ่งแน่นอนครับ เด็กทุกคนลึกๆ ก็อยากจะเป็นคนเก่งของพ่อแม่นั่นแหล่ะครับ ฉะนั้นการให้เด็กได้เห็นถาพของนักดนตรีที่ออกแสดงแล้วผู้ปกครองชื่นชมให้เห็น แค่นี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างทัศนคติที่ดีต่อดนตรีละครับ
ถ้าเด็กมาโดยถูกปลูกฝังมาแบบนี้ละก็รับรองว่าเรียนรอดได้ทุกคนครับ ความพยายามของเด็กนี่นับว่าเป็นสิ่งที่น่าประหลาดมากครับ บทจะไม่สู้ จะท้อถอย แค่เดินสามก้าวก็ยังไม่อยากจะเดิน ได้แต่นอนแหม่ะอยู่กับพื้น แต่บทจะฮึดสู้ จะพยายามให้ได้สิ่งที่ใฝ่ฝัน ให้ปีนเขาก็ปีนไหวครับ (เปรียบเทียบนะครับ ไม่ได้ให้ปีนจรืงๆ)
ในตอนที่สามเราจะมีดูวิธีการให้ลูกเก่งดนตรีได้ตั้งแต่เด็ก โดยพ่อแม่ช่วยได้ข้อที่ 3 ซึ่งนับว่าสำคัญที่สุดเลยครับ คือการสอนให้ลูกเล่นดนตรีครับ พอพูดแบบนี้คุณพ่อคุณแม่หลายคนจะสายหัวเลยว่า “ฉันเล่นดนตรีไม่เป็น!!!” ไม่ต้องตกใจนะครับเพราะสิ่งที่ผมจะพูดถึงในบทความหน้า จะเป็นการสอนดนตรีแบบที่พ่อแม่ทุกคนทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเล่นดนตรีเป็น และไม่ต้องมีความรู้ทางดนตรีด้วยครับ
ติดตามบทความดีๆ เกี่ยวกับการเรียนดนตรีได้อีกจาก Page MusIQstudio ได้อีกนะครับ ถ้าชอบอย่าลืมติดตาม Page กันด้วยนะครับ