“อยากให้ลูกเก่งดนตรี พ่อแม่ช่วยได้ตั้งแต่เด็ก” มุมมองของครูดนตรีผู้สร้างแชมป์ไวโอลินระดับประเทศ 5 ปีซ้อน (ตอนที่ 1)
หนึ่งในกิจกรรมเสริมทักษะพิเศษที่ผู้ปกครองนิยมส่งลูกไปเรียนคือการเรียนดนตรี โดยเด็กบางคนเหมือนมีพรสวรรค์ อธิบายเพียงนิดเดียวก็เล่นได้เป็นเรื่องเป็นราว แต่เด็กบางคนอธิบาย ยกตัวอย่าง เล่นให้ฟัง กว่าจะเข้าใจก็เล่นเอาครูเหนื่อยเลยก็มี หลังจากที่คุณครูสอนเด็กมา 10 กว่าปี ก็พบข้อสังเกตหลายอย่างที่เด็กมีพรสวรรค์มีเหมือนๆ กันที่คุณพ่อคุณแม่สร้างสามารถให้กับลูกโดยไม่รู้ตัวครับ โดยเราจะมาดูกันไปวันละข้อ วันนี้ขอเริ่มที่ประการแรกเลยครับ
1.ให้ลูกอยู่ในสิ่งแวดล้อมของดนตรี: ดนตรีก็เหมือนภาษาครับ ถ้าเด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่พูดด้วยภาษาอะไร เด็กก็จะสามารถเรียนรู้และเลียนแบบภาษานั้นได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรมชาติ ครูดนตรีมีหน้าที่อยู่กับเด็กได้เพียงสัปดาห์ละ 1 ชม.เท่านั้นเอง อย่างมากก็อาจจะจัดกิจกรรมซ้อมวง ออกแสดงคอนเสิร์ท แนะนำเพลงให้ไปฟัง แต่ก็ไม่สามารถสร้างสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กได้ครับ
คุณพ่อคุณแม่จึงกลายเป็นบุคคลสำคัญในการสร้างสิ่งแวดล้อมทางดนตรีให้กับลูกได้ตั้งแต่เด็กครับ ฟังเพลงบ่อยๆ ตอนขับรถ ตอนกินข้าว เปิดดูคอนเสิร์ทต่างๆ เป็นกิจวัตรให้ลูกซึมซับครับ ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องชอบฟังเพลงเหล่านั้นด้วยครับ พูดง่ายๆ คือแสดงออกถึงความชอบเหล่านั้นอย่างชัดเจนครับ เด็กจะสามารถดูออกและอยากจะเลียนแบบครับ แต่ถ้าเปิดไว้เฉยๆ ไม่มีใครฟัง หรือคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้แสดงออกว่าชอบอะไร เด็กก็จะเรียนรู้ไปแทนว่าดนตรีเป็นแค่ Background ไม่ต้องตั้งใจฟังอะไรเท่านั้นเองครับ อาจจะได้ประโยชน์จากการได้ฟังเพลงเหล่านี้แต่จะไม่เกิดทัศนคติที่ดีเท่าไหร่ครับ โดยผลที่ได้จากการสร้างสิ่งแวดล้อมทางดนตรีแบบนี้แบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกันครับ
ทัศนคติที่ดีต่อดนตรี คือเด็กชอบที่จะฟังเพลง รู้สึกว่าดนตรีเป็นสิ่งที่สนุก และรักดนตรี อยากที่จะเล่นเป็น
ความคุ้นเคยกับองค์ประกอบของดนตรี เช่น ระดับเสียง จังหวะ เป็นต้น เมื่อเด็กมาเรียนก็จะสามารถเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว
ความคุ้นเคยกับเครื่องดนตรี เช่นสมมติว่าเด็กฟังเพลงบรรเลง Violin บ่อยๆ ทุกวันตั้งแต่เด็ก เขาก็จะเกิดการเรียนรู้ว่าเสียง Violin ที่ไพเราะเป็นอย่างไร ท่าทางในการเล่นเป็นยังไง เล่นเพลงแบบไหนได้บ้าง พอมาเรียนก็แทบจะรู้ได้เองว่าสีแบบไหนที่เรียกว่าเสียงเพราะ ต่างกับเด็กที่ไม่เคยฟังเสียง Violin เลย พอมาเรียนก็จะเก้ๆกังๆ ไม่รู้ว่าอะไรคือเพราะไม่เพราะ
ดังนั้น เพลงทุกเพลงที่เปิดให้ลูกฟังนั้นถือว่ามีประโยชน์หมดครับ ไม่จำเป็นต้องฟังแต่เพลง Classic แต่การที่เด็กได้ฟังเพลงที่มีเสียงของเครื่องดนตรีชิ้นไหนบ่อยๆ เวลาไปเรียนเครื่องดนตรีชิ้นนั้นก็จะได้เปรียบกว่าคนอื่นครับ
สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ครูสังเกตเห็นมาตลอดในกลุ่มเด็กมีพรสวรรค์ เด็กบางคนถึงกับมี idol เลยว่า อยากเล่น Violin เก่งเหมือน David Garret เป็นต้น แล้วเวลามาเรียนเด็กกลุ่มนี้แหล่ะครับที่ไปได้เร็วเหมือนติดจรวด จะปั้นเป็นแชมป์ประเทศหรือนักไวโอลินมืออาชีพในอนาคตก็สามารถทำได้ครับ
แม้แต่ตัวของคุณครูเองก็ฟังเพลง Classic มาตั้งแต่เด็กมาตลอดครับเพราะคุณพ่อชอบฟังเพลง Classic มาก พอโตมาเลยอยากเล่น Violin ให้เก่งๆ มั่ง จนปัจจุบันก็ได้ทำอาชีพที่ตนเองรักได้เป็นอย่างดีเนี่ยแหล่ะครับ
สำหรับบทความหน้าเราจะมาดูกันต่อในประการที่ 2 คือการสร้างค่านิยมทางดนตรีครับผม ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันให้ลูกกลายเป็นเด็กที่เรียนดนตรีได้เร็วกว่าเด็กทั่วๆไป ติดตามบทความดีๆ แบบนี้ได้อีกจากเพจ MusIQ สตูดิโอสอนดนตรีโดยครูผู้สร้างแชมป์ประเทศ ไม่มีคำว่าเรียนแล้วไม่เก่ง ถ้าชอบก็อย่าลืมกด Like page และกด Share กันด้วยนะครับ