“อยากให้ลูกเก่งดนตรี พ่อแม่ช่วยได้ตั้งแต่เด็ก” มุมมองของครูดนตรีผู้สร้างแชมป์ไวโอลินระดับประเทศ 5 ปีซ้อน (ตอนที่ 3)
ท้าวความเดิมอีกครั้ง หลังจากเราพูดถึงปัจจัยข้อที่ 1, 2 คือการสร้างสิ่งแวดล้อมทางดนตรีและการสร้างทัศนคติที่ดีทางดนตรีไปแล้ว (อ่านตอนที่แล้วได้จาก Page: musiqmethod นะครับ) วันนี้เราจะมาดูปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้เด็กที่มาเรียนดนตรีมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าเด็กทั่วไป รู้สึกว่าเรียนดนตรีเป็นเรื่องที่ง่ายและเก่งกว่าเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน
ปัจจัยข้อที่ 3: ผู้ปกครองก็สอนดนตรีให้ลูกก่อนส่งมาเรียนได้!!!
ผู้ปกครองที่เล่นดนตรีไม่เป็น+ไม่มีความรู้ทางดนตรีเลยแม้แต่น้อยก็สามารถสอนได้ครับ ไม่ต้องตกใจไป จริงๆ แล้วถ้าเรานึกย้อนดูดีๆ ดนตรีควรจะเป็นเรื่องที่สนุกถูกมั้ยครับ? เราถึงเรียกว่า “เล่น” ดนตรี เพราะเราเล่นกับเสียง เล่นกับจังหวะ และเกิดความสุขสนุกสนาน แต่ที่น่าแปลกใจกว่านั้นและเป็นเรื่องน่าเศร้าคือหลายๆ ครั้งคำว่า “เล่น” กลับหายไปอย่างสิ้นเชิงในการเรียนดนตรี….
ผู้ปกครองจึงสามารถชวนลูกมาเล่นดนตรีด้วยกันได้ครับ ที่ผมแนะนำที่สุดคืออาจจะซื้อ Keyboard ของ Casio (ผมไม่ได้อวยยี่ห้อนี้หรืออะไรนะครับ แค่นึกถึงเพราะที่บ้านผมก็มีเครื่องนึงที่ผมเล่นมาตั้งแต่เด็ก) ราคาไม่แพงมาก ที่ 1 เครื่องมีเสียงเครื่องดนตรี 100-200 ชิ้น แถมยังมีจังหวะ+เพลงต่างๆ มาให้ครบพร้อมอีก แค่เปิดเครื่องแล้วชวนลูกมานั่งจิ้มเล่น เปลี่ยนเป็นเสียงเครื่องดนตรีตลกๆ ก็สนุกกันได้แล้วครับ ถึงแม้ว่ามันอาจจะฟังไม่เป็นเพลง แต่นั่นแหล่ะครับคือหัวใจที่สำคัญที่สุดของการเรียนรู้ของเด็กนั่นคือการสำรวจครับ
เด็กเรียนรู้โดยการเล่นและสำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัว เรื่องของวัตถุ รูปทรง น้ำหนัก สีสันต่างๆ มากมายตลอดการเล่น เสียงก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่เด็กสามารถออกสำรวจได้เช่นกันครับ การเล่นเครื่อง Keyboard แบบนี้ทำให้เด็กได้สำรวจเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ ได้เรียนรู้เสียงสูงเสียงต่ำ (มีเด็กไม่น้อยเลยครับที่มาเริ่มเรียนแล้วไม่มี Concept ของเสียงสูง, ต่ำด้วยซ้ำ)
ในการเรียนดนตรีที่ผมสอนเด็กมาหลายรุ่นจนประสบความสำเร็จ บทเรียนแรกๆ จริงอยู่ว่าเป็นเรื่องของท่าทางการเล่นที่ถูกต้อง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กหยิบเครื่องดนตรีชิ้นนั้นมาเล่นมั่วๆ ผมไม่เคยห้ามเลยครับ ปล่อยให้สำรวจไปเลยว่าเครื่องดนตรีชิ้นนี้ทำเสียงอะไรได้บ้าง นั่นคือการเรียนรู้โดยอัตโนมัติครับ
อีกส่วนหนึ่งที่ผมพบบ่อยๆ คือเด็กที่จับจังหวะของดนตรีไม่ได้เลย ซึ่งจริงๆ แล้วพอมาสอบถามดูก็พบว่าผู้ปกครองไม่เคยมีกิจกรรมดนตรีกับลูกเลย เรื่องของจังหวะนี้ผู้ปกคริงก็สอนลูกได้ไม่ยากครับ แค่เปิดเพลงจังหวะสนุกๆ แล้วชวนลูกเต้นด้วยกัน นอกจากได้ออกกำลังกายแล้ว ยังได้เรียนรู้จังหวะไปพร้อมกันด้วย โดยธรรมชาติเด็กที่ชอบเต้นเข้าจังหวะกับเพลงต่างๆ มาตั้งแต่เล็ก พอมาเรียนเรื่องจังหวะนี่แทบไม่ต้องสอนเลยครับ หัวไวมาก โดยพอแม่แทบไม่ต้องห่วงเลยครับว่าลูกจะเต้นเข้ากับจังหวะรึเปล่า เรื่องของจังหวะนี้ฟังบ่อยๆ เต้นบ่อยๆ เดี๋ยวก็ตรงเองครับ ส่วนใหญ่ที่จับจังหวะไม่ได้เพราะไม่เคยทำนี่ละครับ (จริงๆ ถ้าลอง Search Youtube ดูคลิปพวกเด็กทารกที่เต้นไปพร้อมกับเพลงจะพบว่าเด็กทารกก็ขยับตรงจังหวะกันหมดนะครับ มีแต่โตขึ้นมาแล้วไม่ได้ทำแบบนี้อีก เลยกลายเป็นทำไม่ได้ซะยังงั้น)
เห็นมั้ยครับ ที่ผมพูดมาแต่ละอย่าง ไม่ว่าใครก็สอนดนตรีให้กับลูกได้ทั้งนั้นครับ โดยดนตรีที่ผู้ปกครองสอนนี้ไม่ใช่การเล่นเครื่องดนตรีที่ถูกต้อง ไม่ใช่การอ่านโน้ต แต่เป็นการเรียนรู้และสำรวจโลกของเสียงไปด้วยกันครับ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ควรจะเป็นสิ่งแรกสุดที่ครูดนตรีควรจะสอนเด็กเช่นกันแต่ครูดนตรีมักจะมองข้ามไป ดังนั้นอย่ารอช้าครับ ผู้ปกครองสอนเองซะเลย พอส่งมาเรียนดนตรี เด็กก็จะเรียนรู้ได้เร็วกว่าคนอื่นเพราะคุ้นเคยกับโลกที่ตนเองเคยออกสำรวจและเล่นอยู่เป็นประจำนี่ล่ะครับ
ติดตามบทความดีๆ เกี่ยวกับการเรียนดนตรีได้อีกจาก Page: MusIQmethod ได้แกนะครับ ถ้าชอบอย่าลืมกดติดตาม Page เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้เขียนด้วยครับ ขอบคุณครับผม